โรคกระดูกพรุนผู้หญิงวัยทอง

osteoporosis

โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดจากความหนาแน่นและมวลกระดูกลดน้อยลง มีอาการกระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป ไปจนถึงขั้นแตกหักได้ง่าย ผู้ป่วยบางรายถึงขั้นส่วนสูงลดลงจากอาการกระดูกพรุน ผุกร่อน หรือกระดูกไม่สามารถทำงาน เคลื่อนไหวได้เหมือนเคย เช่น การทนต่อแรงกระแทก การทนต่อการรับน้ำหนัก แรงกดต่างๆ ได้น้อยลงอันเกิดจากความเจ็บปวดของรอยแตกร้าวด้านในลามไปจนถึงการแตกหักของกระดูกส่วนสำคัญถึงขั้นกลายเป็นคนพิการได้เลยทีเดียว เช่น กระดูกสันหลังที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทมากมาย

Women-osteoporosis

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

เกิดจากการทำงานไม่สมดุลกันของตัวเซลล์กระดูก ส่งผลให้เกิดการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก อาจเกิดจากแคลเซียมในร่างกายมีน้อยไม่ก็เกิดจากความผิดปกติของตัวเซลล์กระดูกโดยมีสาเหตุหลายข้อคือ

  • อายุ จากวัยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กระบวนการเติบโตต่างๆ ในร่างกายช้าลง การทดแทนกระดูกสึกหรอก็ทำได้ช้า ไม่ก็ขาดแคลเซียมในปริมาณจำเป็นต่อการสร้างกระดูกก็สุ่มเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้
  • ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทองก็เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
  • กรรมพันธุ์ หากมีญาติทางสายเลือดเคยป่วยเป็นโรคนี้โอกาสที่จะป่วยเหมือนกันก็มีสูง
  • ความผิดปกติจากต่อมและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ตับกับไตทำงานผิดปกติ เป็นต้น
  • โรคหรือการเจ็บป่วย บางคนเป็นโรคเกี่ยวกับไต กระเพาะ ตับ ลำไส้อักเสบ กรดไหลย้อน ฯลฯ ก็สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้
  • การบริโภค กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย หรืออาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • การใช้ยา บางคนใช้ยาบางประเภทเป็นเวลานานก็ก่อให้เกิดอาการกระดูกพรุนได้ เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์
  • การดำเนินชีวิตประจำวัน การนั่ง ยืน ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน หรือทำงานต่อเนื่องแบบร่างกายต้องหักโหม เป็นต้น

อาการของโรคกระดูกพรุน

ปกติแล้วคนที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมักจะรู้อาการของตนเองก็เมื่อเกิดอาการดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อบ่งชี้อื่นๆ ที่ระบุได้ว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้ว่าจะไม่ได้กระทบอะไรแรงๆ หลังงอ, ปวดหลังแบบเรื้อรัง, ความสูงของตนเองลดลง

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

วิธีการง่ายๆ สำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าวัยทองก็คือทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงๆ เช่น นม เต้าหู้ งา ปลาตัวเล็ก ถั่ว ผักใบเขียว ฯลฯ พร้อมกับออกกำลังกายเป็นประจำอย่างไม่หักโหม พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เมื่อเข้าสู่วัยทองแล้วห่างไกลต่อโรคกระดูกพรุนได้ไม่ยาก ทุกคนจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยกับโรคนี้